มว.สร้างปรากฏการณ์ ประเทศไทยเวลาเดียว ตรงกันทั้งประเทศ ยกระดับการสื่อสาร สร้างสังคมคุณภาพ พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

“ประเทศไทยเวลาตรง” โครงการคุณภาพ อีกหนึ่งความสำเร็จของ ฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ที่สร้างปรากฏการณ์ ประเทศไทยเวลาเดียวกัน  ตรงกันทั้งประเทศ โดยมุ่งมั่นที่เข้าไปช่วยพัฒนาคุณภาพให้กับระบบสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ได้มีประกาศราชกิจจานุเบกษาจากคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการกำหนดให้ “สถานีวิทยุที่ใช้ระบบ FM/RDS (Radio Data System) ส่งสัญญาณข้อมูล (Synchronize) ให้เป็นไปตามมาตรฐานของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ” นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการพัฒนา ระบบเวลามาตรฐาน ของเทคโนโลยีการสื่อสาร ในประเทศไทยอันเป็นสื่อกลางที่ช่วย ประสาน ส่งเสริม และผลักดันศักยภาพ เพื่อสังคมคุณภาพ สร้างผลกระทบให้แก่กิจกรรมต่างๆของประเทศดำเนินไปได้อย่างมีความสอดคล้องเข้าจังหวะ (Synchronous) และมีประสิทธิภาพ

การใช้งาน เวลามาตรฐานเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารให้ได้ผล มีประสิทธิภาพ และรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต ตลอดจนกิจกรรมต่างๆภายในประเทศ จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านเวลาของประเทศที่ถูกต้องตรงกันทั้งหมด เพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งเชิงโครงสร้างของระบบ ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทย ไม่มีการบูรณาการอย่างเป็นระบบที่ทำให้ฐานเวลาของประเทศมีความถูกต้อง ตรงกัน ทำให้มีความเสี่ยงเกิดขึ้นมากมาย เช่น การต้องเผชิญกับผู้บุกรุกทางไซเบอร์ การควบคุมตารางการบิน การควบคุมเวลาในการซื้อขายหลักทรัพย์(หุ้น) การโอนเงินข้ามเขตเวลาของธนาคาร ไปจนถึงด้าน ระบบอาวุธและความมั่นคงทางทหาร นอกจากนี้การโครงสร้างพื้นฐานด้านเวลาที่ดี จะเป็นปัจจัยหลักเอื้อประโยชน์ในการส่งเสริมศักยภาพให้กับ ภาคอุตสาหกรรม และการบริการต่างๆ อีกด้วย เช่น บริการขนส่งมวลชน บริการจอดรถ โรงเรียน โรงพยาบาล หรือแม้แต่การบันทึกเวลาทำงานของสถานประกอบการต่างๆ เพื่อให้กิจกรรมทางสังคมดำเนินไปได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติจึงมีแนวคิดในการ ทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านเวลาของไทยตรงกันหมดทั้งประเทศ โดยแบ่งภาคของการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ  เริ่มตั้งแต่ ปี 2548-2562 โดยมีลำดับเหตุการณ์ดังต่อไปนี้

 

ระยะที่1 ปี พ.ศ. 2548-2552

มว. จับมือ 5 พันธมิตร ได้แก่ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (สวทช.) สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ (ดร.) กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ  กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสำนักนายกรัฐมนตรี ในการร่วมมือกันพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเวลา ผ่านโครงการ “ประเทศไทยเวลาตรง”

 

ผลผลิตในโครงการระยะนี้คือ

ได้ทำการพัฒนาระบบ Time Server พัฒนาระบบ Time Code Broadcast  ออกแบบ Microchip เพื่อรับคลื่นสัญญาณและแสดงผลเป็นนาฬิกา  พัฒนาต้นแบบนาฬิกาที่สามารถรับคลื่น Time Code ต้นแบบเพื่อการผลิต

 

ระยะที่2  ปี พ.ศ. 2553-2556

ร่วมมือกับกองทัพอากาศ  องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (บมจ. อสมท.) ในการถ่ายทอดเวลามาตรฐานประเทศไทยผ่านทางวิทยุในระบบ FM/RDS ตามหัวเมืองเศรษฐกิจหลักทั่วประเทศ กว่า 42 สถานี อีกทั้ง ร่วมมือกับ บริษัท ทีโอที จำกัดมหาชน ในเรื่องของความถูกต้องของเวลา และการถ่ายทอดความถูกต้องของเวลามาตรฐานผ่านโทรศัพท์พื้นฐาน และความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลเวลามาตรฐานของประเทศไทยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านเวลาในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ผลผลิตของโครงการในระยะนี้คือ

1.มีการทดลองออกอากาศส่งเวลามาตรฐานในประบบ FM/RDS ในหัวเมืองทางเศรษฐกิจสำคัญทั่วประเทศรวม 42 สถานี โดยร่วมมือกับ ทอ. และ อสมท. เป็นสถานีฐานในการเผยแพร่

2.มว. ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สามารถประดิษฐ์เครื่องรับนาฬิกาเครื่องต้นแบบที่เป็นเครื่องรับสัญญาณเวลามาตรฐานในระบบ FM/RDS ได้ โดยมีหน่วยงานของรัฐนำไปทดลองใช้งานจริง เช่น NECTEC มูลนิธิชัยพัฒนา และ กองทัพอากาศ (ทอ.)

 

ระยะที่3 ปี พ.ศ. 2557-2559

มว. สามารถประดิษฐ์ตัวต้นแบบเครื่องเข้ารหัสสัญญาณ RDS Encoder ซึ่งเป็นการ ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยเป็นความร่วมมือกับ NECTEC. เพื่อนำไปติดตั้งเพิ่มเติมให้กับสถานีวิทยุ อีก 11 เครื่อง

 

ระยะที่4 ปี พ.ศ. 2560-2562

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เล็งเห็นความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านเวลาของประเทศซึ่งเป็นโครงการซึ่ง มว. ผลักดันและพัฒนาระบบอยู่  จนในที่สุด กสทช. ได้มีการบรรจุในความสำคัญลงใน ประกาศราชกิจจานุเบกษา ของคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง  แผนความถี่กระจายเสียงระบบวิทยุ เอฟเอ็ม โดยวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 หัวข้อ 3.7.2 (ข) ความว่า “ระบบส่งสัญญาณข้อมูลวิทยุ (Radio Data System: RDS)  กรณีที่มีการส่งสัญญาณข้อมูลวิทยุ  กําหนดให้ระบบสงสัญญาณข้อมูลวิทยุเป็นไปตามมาตรฐาน ดังต่อไปนี้

“3.7.2 กําหนดให้ระบบส่งสัญญาณข้อมูลวิทยุต้องประกอบด้วยข้อมูลอย่างน้อยดังตอไปนี้   (ก) รหัสรายการ (Program Identification Code)   กําหนดให้รหัสรายการต้องเป็นไปตามตารางที่ 4  (ข)  เวลาและวันที่ (Clock-Time and Date)   กําหนดให้เวลาและวันที่ต้องเป็นไปตามเวลาและวันที่ที่กําหนดโดย สถาบันมาตรวิทยาแหงชาติ หรือเวลาและวันที่ที่มีการสอบย้อนกลับได้ทางการวัด  (Measurement Traceability) ไปยังสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ”

ขั้นตอนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเวลาของประเทศนั้นไม่ได้มีเพียงเท่านี้  มว.ยังมีแผนสำหรับอนาคตอันใกล้ในการส่งต่อเทคโนโลยีต้นแบบผ่านการอบรมการใช้งานให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถดูแล และบำรุงรักษาเองได้ ตลอดจนส่งเสริมให้ภาคเอกชนนำไปต่อยอดเพื่อการผลิตใช้งานในเชิงพาณิชย์ต่อไป